ความรุนแรงของการถูกไฟดูดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนโวลต์และแอมแปร์ ของกระแสไฟฟ้าที่ผ่านเข้าสู่ร่างกาย ความต้านทานของเนื้อเยื่อที่กระแสไฟฟ้าผ่านเข้าไป ชนิดของกระแสไฟฟ้า และระยะเวลาที่สัมผัสกระแสไฟฟ้า
หากรุนแรงจะเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก เส้นประสาทชาไปทั่วร่าง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หมดสติ และหยุดหายใจ กระแสไฟฟ้าจะทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ผิวหนัง กล้ามเนื้อ ระบบประสาท รวมถึงอวัยวะภายใน สาเหตุที่เสียชีวิตก็เนื่องจากกระแสไฟฟ้าไหลผ่านหัวใจ ทำให้คลื่นหัวใจเปลี่ยนแปลงและหัวใจหยุดเต้นอย่างเฉียบพลัน
การช่วยเหลือผู้ที่ถูกไฟดูด ที่สำคัญที่สุดก็คือ
ต้องป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้วย บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ที่จะเข้าไปช่วยกลับถูกไฟดูดเสียชีวิตไปด้วย
วิธีการผิดๆ ที่พบได้บ่อยก็คือ
การใช้มือเปล่าดึงคนที่ถูกไฟดูดออกมา บางคนทำเพราะไม่รู้ บางคนทำเพราะตกใจ การทำเช่นนี้กระแสไฟฟ้าจะวิ่งเข้าสู่ตัวเราทันที ในกรณีสายไฟฟ้าแรงสูง แม้แต่การเข้าใกล้ก็ยังต้องมีระยะห่าง มิฉะนั้นจะถูกดูดเข้าไปติดกับเหยื่อคนแรกได้เลย
การช่วยเหลือผู้ที่ถูกไฟดูดอย่างถูกวิธี
- หากผู้ที่ถูกไฟดูดยังติดอยู่กับสายไฟ ให้ถอดปลั๊กหรือสับคัทเอาท์ลง เพื่อตัดแหล่งจ่ายไฟ
- ใช้วัตถุที่เป็นฉนวน ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ไม้แห้งๆ สายยางพลาสติกแห้งๆ หรือหนังสือพิมพ์ที่ม้วนเป็นแท่ง เขี่ยสายไฟให้หลุดจากตัวผู้ที่ถูกไฟดูด หรืออาจใช้เชือกหรือผ้าแห้งๆ คล้องดึงผู้ที่ถูกไฟดูดออกมา
- การใส่ถุงมือยาง การใช้หนังสือพิมพ์หนาๆ หรือผ้าแห้งหนาๆ ห่อมือ แล้วผลักผู้ที่ถูกไฟดูดให้หลุดออกมา ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง แต่ต้องระวังว่าผู้ที่ถูกไฟดูดอาจได้รับบาดเจ็บจากการถูกผลักนั้น
- ผู้ที่เข้าไปช่วยควรจะยืนอยู่บนฉนวนเช่นกัน เช่นยืนอยู่บนกองหนังสือพิมพ์ ผ้าห่ม กล่องไม้ หรือรองเท้ายาง และผิวหนังต้องแห้ง ไม่เปียกชื้น มิฉะนั้นอาจถูกไฟดูดได้
- สังเกตให้ละเอียดถึงอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดร่วมด้วย เช่น อาจพลัดตกจากที่สูง มีอาการบาดเจ็บหรือกระดูกหัก หากเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุอย่างไม่ถูกวิธี อาจเกิดความพิการหรืออัมพาตได้
- ตรวจดูว่าหัวใจหยุดเต้นหรือไม่ โดยแนบหูฟังที่หน้าอกหรือจับชีพจร หากหัวใจหยุดเต้น ต้องทำการนวดหัวใจไปพร้อมๆ กับการผายปอด แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
วิธีปฐมพยาบาลระหว่างนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล กรณีหัวใจหยุดเต้น
- จัดให้ผู้ป่วยนอนหงาย แล้วช้อนคอให้แหงนหน้าขึ้น ตรวจดูว่ามีสิ่งอุดตันในช่องปากหรือไม่ ถ้ามีให้นำออกให้หมด แล้วบีบจมูกของผู้ป่วยไว้
- ประกบปากกับผู้ป่วยให้สนิท เป่าลมเข้าแรงๆ แล้วปล่อยให้ลมหายใจของผู้ป่วยออกมาเอง ทำเช่นนี้เป็นจังหวะๆ เท่ากับจังหวะหายใจปกติ สังเกตการขยายของหน้าอกและซี่โครง หากเป่าปากไม่ได้ ให้ปิดปากแล้วเป่าจมูกแทน
- นวดหัวใจโดยใช้สองมือวางซ้อนกันแล้วกดเหนือลิ้นปี่ของผู้ป่วย กดลงไปเป็นจังหวะเท่ากับการเต้นของหัวใจ โดยฟังการเต้นของหัวใจสลับกับการกดทุก 10-15 ครั้ง
- ถ้ามีผู้ช่วยเหลือคนเดียว ให้เป่าปาก 2 ครั้ง แล้วนวดหัวใจ 15 ครั้งสลับกัน
- ถ้ามีผู้ช่วยเหลือ 2 คน ให้สลับกันเป่าปาก 1 ครั้ง นวดหัวใจ 5 ครั้ง
การปฐมพยาบาลต้องทำทันทีที่ช่วยเหลือผู้ที่ถูกไฟดูดออกมา หากช้าเกินกว่า 4-6 นาที โอกาสที่จะฟื้นมีน้อย และขณะนำส่งโรงพยาบาลจะต้องปฐมพยาบาลตามขั้นตอนดังกล่าวตลอดเวลาจนกว่าชีพจรจะกลับมา
ขอบคุณรูปภาพจาก : www.health.mthai.com